คนเป็นเบาหวาน การควบคุมน้ำตาลได้คือที่สุดแล้ว
โรคเบาหวานคืออะไร
โรคเบาหวาน (Diabetes) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของฮอร์โมนที่ชื่อว่า อินสุลิน (Insulin) ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมีอินสุลิน เพื่อนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะสมองและกล้ามเนื้อ ในภาวะที่อินสุลินมีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของปริมาณอินสุลินในร่างกาย หรือการที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายตอบสนองต่ออินสุลินลดลง (หรือที่เรียกว่า ภาวะดื้ออินสุลิน) จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีปริมาณน้ำตาลคงเหลือในกระแสเลือดมากกว่าปกติ
สาเหตุของโรคเบาหวานเกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง จนทำให้ไตดูดกลับน้ำตาลได้ไม่หมด ซึ่งปกติไตจะมีหน้าที่ดูดกลับน้ำตาลจากสารที่ถูกกรองจากหน่วยไตไปใช้ ส่งผลให้มีน้ำตาลรั่วออกมากับปัสสาวะ จึงเป็นที่มาของคำว่า “โรคเบาหวาน” หากเราปล่อยให้เกิดภาวะเช่นนี้ไปนาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาในที่สุด
ชนิดของโรคเบาหวาน
- เบาหวานชนิดที่ 1 – เกิดจากภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายเซลล์สร้างอินสุลินในตับอ่อน ทำให้เกิดภาวะขาดอินสุลิน
- เบาหวานชนิดที่ 2 – เกิดจากภาวะการลดลงของการสร้างอินสุลิน ร่วมกับภาวะดื้ออินสุลิน และมักเป็นกรรมพันธุ์
- เบาหวานชนิดพิเศษ – สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดนี้อาจเกิดจากความความผิดปกติของตับอ่อน หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานที่ผิดปกติของอินสุลินโดยกำเนิด
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ – เบาหวานชนิดนี้เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์และหายไปได้หลังคลอดบุตร แต่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต
อาการของโรคเบาหวาน
เบาหวานที่พบได้บ่อยที่สุด คือเบาหวานชนิดที่ 2 สาเหตุของโรคเบาหวานชนิดนี้เกิดจากกรรมพันธุ์และการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารประเภทแป้ง ของหวานมากเกินไป ภาวะน้ำหนักเกิน อ้วนลงพุง การขยับร่างกายที่น้อยลง ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
เบาหวานชนิดนี้ มักเกิดในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าเกิดในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เช่น อายุ 20 – 30 ปี ซึ่งสัมพัทธ์กับการรับประทานอาหารที่เป็นแป้ง ของหวาน หรือการออกกำลังกายที่ลดลง และ โรคอ้วน ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่อายุยังน้อย มีโอกาสจะควบคุมอาการโรคได้ยากกว่า เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายกว่า และมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในช่วงอายุที่น้อยกว่า
ดังนั้น การควบคุมเบาหวานให้อยู่ในระดับที่ปกติ จึงมีความสำคัญอย่างมากรวมถึงการค้นหาโรคเบาหวานในกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันและการรักษาโรคเบาหวานได้อย่างทันท่วงที จะส่งผลให้ลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานระยะยาวได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
เมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเป็นระยะเวลานาน น้ำตาลที่สูงจะส่งผลโดยตรงต่อหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยทำให้เกิดภาวะอักเสบ และภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าคนปกติ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยในภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ทำให้น้ำตาลส่วนเกินไปเกาะกับเม็ดเลือดขาวที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อโรค ทำให้เม็ดเลือดขาวมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆได้ลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย
ภาวะแทรกซ้อนหลัก ๆ ที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน
ภาวะแทรกซ้อนทางตา
ภาวะแทรกซ้อนทางตาหรือที่เรียกกันว่า ภาวะเบาหวานขึ้นตา ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังส่งผลต่อจอประสาทตาทำให้เกิดจอประสาทเสื่อม หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดจอประสาทตาลอก และตาบอดได้ในที่สุด นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานยังเสี่ยงต่อภาวะต้อกระจก ต้อหินได้มากกว่าคนปกติอีกด้วยภาวะแทรกซ้อนทางไต
ภาวะแทรกซ้อนทางไต หรือที่เรียกกันว่า ภาวะเบาหวานลงไต ในระยะเริ่มแรก ไตจะมีการทำงานที่หนักขึ้น เนื่องจากน้ำตาลในเลือดที่สูง ส่งผลให้มีแรงดันเลือดไปที่ไตสูงตามไปด้วย หากตรวจการทำงานของไตในระยะนี้ จะไม่พบความผิดปกติ การตรวจปัสสาวะอาจมีหรือยังไม่มีโปรตีนไข่ขาว (อัลบูมิน) รั่วออกมากับปัสสาวะ ระยะถัดมาจะเริ่มพบมีโปรตีนไข่ขาวรั่วออกมากับปัสสาวะ และอาจมีการทำงานของไตที่ลดลงเล็กน้อย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี การทำงานของไตจะลดลงเรื่อยๆ และอาจดำเนินไปถึงภาวะไตวายเรื้อรังจนต้องทำการล้างไตในที่สุดภาวะแทรกซ้อนทางเส้นประสาท
ภาวะนี้เป็นภาวะที่พบบ่อยที่สุด คือผู้ป่วยมักมีอาการชาปลายมือปลายเท้า เหมือนใส่ถุงมือหรือถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา บางคนอาจมีอาการเจ็บแปลบเหมือนโดนเข็มแหลม ๆ ทิ่ม บางคนมีอาการแสบร้อนบริเวณปลายมือเท้า อาการทางระบบประสาทที่พบได้แต่ไม่บ่อย เช่น เหงื่อไม่ออกหรือออกง่ายกว่าปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ กลืนสำลัก ท้องอืดง่าย จุกแน่นลิ้นปี่ ซึ่งเป็นอาการของระบบประสาทที่ควบคุมการบีบเคลื่อนตัวของทางเดินอาหารผิดปกติ
เส้นเลือดแดงใหญ่อุดตัน
อาการเส้นเลือดแดงใหญ่อุดตันมักเกิดขึ้นโดยเฉพาะบริเวณขา อาการที่พบได้บ่อยคือ มีอาการปวดขามากเมื่อเดินหรือวิ่ง และดีขึ้นเมื่อพักหรือห้อยขาลงที่ต่ำ ปลายเท้าเย็น ขนขาร่วง ผิวหนังบริเวณขาเงามัน ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดอุดตันจนปลายเท้าขาดเลือด ติดเชื้อ และอาจต้องตัดนิ้วเท้า หรือขาทิ้งในที่สุด
เส้นเลือดหัวใจตีบ
ภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหากตีบรุนแรงอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจลดลง เกิดหัวใจวาย ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตเฉียบพลันได้
เส้นเลือดสมองตีบ
อาการเส้นเลือดสมองตีบเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเช่นกัน เมื่อเกิดภาวะเส้นเลือดสมองตีบ ทำให้การทำงานของสมองและเส้นประสาทบริเวณที่ขาดเลือดลดลงหรือไม่ทำงาน ส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด หรือมีอาการชาครึ่งซีก
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน
นอกจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานมีอาการที่รุนแรง และก่อให้เกิดภาวะทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้ แต่หากเราทราบสาเหตุของโรคเบาหวานและทำการตรวจวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก และผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ก็สามารถลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้มาก
ผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาการแสดงที่หลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีอาการผิดปกติอะไรเลย ไปจนถึงภาวะช็อกน้ำตาล อย่างไรก็ตาม อาการที่เราสามารถสังเกตได้ เช่น เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย โดยเฉพาะปัสสาวะตอนกลางคืน ซึ่งอาจมากเกิน 3 ครั้ง/คืน น้ำหนักลดฮวบฮาบโดยไม่ทราบสาเหตุ ปลายมือปลายเท้าชา แสบร้อน หรือรู้สึกคล้ายเข็มแหลมๆทิ่ม แผลเรื้อรัง หายช้า เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ตามัวลง มองไม่ชัดเท่าปกติ หรือในคนสายตาสั้นอาจมองเห็นชัดขึ้น
บุคคลที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ได้แก่ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยกำหนดที่ดัชนีมวลกาย ≥ 23 kg/m2 ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง รอบเอวใหญ่ โดยเฉพาะในผู้ชาย ≥ 90 เซนติเมตร และในผู้หญิง ≥ 80 เซนติเมตร ผู้ที่มีญาติสายตรงป่วยเป็นโรคเบาหวาน ผู้หญิงที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกคลอด 4 กิโลกรัมขึ้นไป รวมถึงชาวเอเชียที่อาจไม่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นแต่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน
ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคเบาหวานมีทั้งหมด 4 วิธี แต่ที่แพร่หลายและแม่นยำในประเทศไทย มี 3 วิธี ได้แก่
- น้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารที่มีพลังงานเป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง เกิน 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป อย่างน้อย 2 ครั้ง
- น้ำตาลในเลือดหลังกลืนน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม เป็นเวลา 2 ชั่วโมง เกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
น้ำตาลในเลือดแบบสุ่มโดยไม่ได้งดอาหารที่ให้พลังงาน เกิน 200 มิลลกรัมต่อเดซิลิตร ร่วมกับมีอาการที่เข้าได้กับโรคเบาหวานเช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย เป็นต้น
การรักษาโรคเบาหวาน
การรักษาโรคเบาหวาน เป็นการรักษาที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากแพทย์ พยาบาล โภชนากร และ ที่สำคัญที่สุดคือตัวผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยต้องตระหนักถึงความสำคัญของการรักษา โดยต้องเข้าใจก่อนว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงปกติที่สุดได้ ผู้ป่วยเบาหวานสามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงทำงานประจำได้ตามปกติหากแต่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้มาก
การควบคุมอาหาร
การรักษาโรคเบาหวานด้วยวิธีการควบคุมอาหารมีความสำคัญมากในการลดระดับน้ำตาลในเลือด และถือเป็นการรักษาหลักที่ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายควรเข้าใจและปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยอาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานได้อย่างไม่จำกัดจำนวนได้แก่ ผักใบเขียวทุกชนิด เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ขาว เป็นต้น อาหารบางชนิดที่สามารถรับประทานได้ในปริมาณจำกัด เช่น ผลไม้ แนะนำให้รับประทานผลไม้ชนิดหวานน้อย เช่นฝรั่ง ชมพู่ แก้วมังกร เป็นต้น
การออกกำลังกาย
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานการออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาโรคเบาหวานที่สำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้อินสุลินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนะนำว่าควรออกกำลังกายชนิดแอโรบิค เช่น วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ให้ได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และออกกำลังกายชนิดต้านน้ำหนัก เช่น การยกเวท เป็นเวลาอย่างน้อย 45 นาทีต่อวัน 2 วันต่อสัปดาห์ และไม่ควรนั่งอยู่เฉย ๆ หรือนอนเล่นพักผ่อนเกิน 90 นาที หากเกินควรลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบท
การใช้ยา
การรักษาโรคเบาหวานโดยการใช้ยา แพทย์จะพิจารณาจากชนิดของโรคเบาหวาน เช่น เบาหวานชนิดที่ 1 ควรรักษาโดยการฉีดอินสุลินเท่านั้น ส่วนในเบาหวานชนิดที่ 2 แพทย์จะพิจารณาตามความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อน โอกาสการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ และเศรษฐานะของผู้ป่วยเพื่อประกอบการพิจารณาในการเลือกใช้ยา
โรคเบาหวานป้องกันได้หรือไม่
ในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ แต่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นสามารถป้องกันได้แล้ว มีการศึกษาหลายการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การนำผู้ที่มีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด จนมีน้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างน้อย 7-10% ของน้ำหนักตัวเดิม สามารถลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
โรคเบาหวานสามารถหายขาดได้หรือไม่
ในอดีตความสามารถในการรักษาโรคเบาหวานมีเพียงการควบคุม และการลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานเท่านั้น ไม่สามารถรักษาโรคเบาหวานให้หายขาดได้ แต่ในปัจจุบัน ได้มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง จนพบว่ามีวิธีการรักษาผู้ป่วยเบาหวานให้หายขาดได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมาไม่นาน ได้แก่การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีโรคอ้วนร่วมด้วย พบว่านอกจากจะสามารถลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังสามารถทำให้หายขาดจากโรคเบาหวานได้ในผู้ป่วยบางราย อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดกระเพาะอาหารดังกล่าว ไม่สามารถทำได้ทุกคน และอาจมีผลข้างเคียงจากการผ่าตัดตามมา แพทย์จึงเลือกทำการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายที่มีความจำเป็นเท่านั้น
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง และพบอุบัติการณ์การเกิดโรคเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้จะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้มากมาย แต่ก็เป็นโรคที่สามารถควบคุมได้ หากผู้ป่วยทำความเข้าใจกับตัวโรค และให้ความร่วมมือในการรักษา ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงกับคนปกติได้